ช่วยกันรักษาแหล่งน้ำในวันนี้ หมดปัญหา “น้ำประปา” ขาดแคลนในอนาคต

วิกฤติการณ์ด้านน้ำของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง ต่างคนต่างก็มีความเห็นและบทเรียนที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ คนกรุง น่าจะ “ตระหนัก” ได้แล้ว ว่า การมีน้ำดื่มน้ำใช้ เป็นเรื่องสำคัญมากแค่ไหน และเหตุใด เราจึงควรประหยัดและใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

ที่ผ่านมาคนจำนวนมาก ไม่เคยเห็นความสำคัญของน้ำ ไม่เคยเชื่อว่า น้ำประปาที่ออกมาจากก๊อกที่บ้านของท่าน (ซึ่งหากท่านดูแลระบบท่อ ถังพักน้ำในบ้านของท่านอย่างดีเป็นประจำเสมอ) นั้นดื่มได้ ทั้งยังมีมาตรฐานดีกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยขึ้น ในยามที่ท่านไม่สามารถหาน้ำดื่ม น้ำใช้จากท้องตลาดได้อีกต่อไป ที่พึ่งสุดท้ายที่จะเป็นแหล่งน้ำเพื่อประทังชีวิตของคนกรุงในยามวิกฤต ก็คงไม่พ้น ”น้ำประปา”

จริงอยู่แม้น้ำท่วมครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโทษอันร้ายแรงของน้ำ แต่สาเหตุหลัก ที่น้ำให้โทษครั้งนี้ก็มาจากฝีมือมนุษย์มิใช่หรือ? การที่มนุษย์ไม่ใส่ใจในทรัพยากรธรรมชาติ ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรต่างๆ การใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย ปล่อยน้ำประปาดีๆ ไหลทิ้งไปเฉยๆ ด้วยความเข้าใจที่ว่า ค่าน้ำนั้นถูกแสนถูก พร้อมคิดในใจว่า จะประหยัดไปทำไมยังไงก็มีเงินจ่าย หรือบางคนก็ยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่า น้ำประปายิ่งใช้มากราคายิ่งถูกลง ซึ่งผิดอย่างมหันต์ เพราะค่าน้ำประปาคิดตามอัตราก้าวหน้า คือ ยิ่งใช้มากยิ่งมีราคาต่อหน่วยมากขึ้น แบบขั้นบันได

อย่างไรก็ตามการใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่าส่งผลให้ การประปานครหลวง (กปน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดหา ผลิตและให้บริการน้ำประปาอันใสสะอาดปลอดภัย ส่งตรงถึงบ้านของท่านที่อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพ นนทบุรี และสมุทรปราการ ต้องพยายามจัดหาแหล่งน้ำดิบใหม่เพื่อนำมาผลิตน้ำให้เพียงพอกับความต้องการที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำต่อหน่วยสูงขึ้น ประกอบกับที่ กปน. มิได้ปรับค่าน้ำประปาตามราคาต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ชะลอการนำเงินเหล่านี้ไปพัฒนางานบริการในด้านอื่นของ กปน. ให้มากขึ้น เช่น การนำเงินไปลงทุนการพัฒนาระบบการกรองน้ำด้วยระบบใหม่ๆ การขยายการวางแนวอุโมงค์ส่งน้ำให้ครอบคลุมตลอดทั้งพื้นที่การดูแลของ กปน. เพื่อความมั่นคงของระบบประปาในยามที่เกิดภาวะวิกฤต หรือ การยกโครงสร้างการวางท่อประเภทใหม่ทั้งระบบที่จะช่วยป้องกันความเสียหายจากภาวะแผ่นดินไหว แทนที่จะนำเงินไปลงทุนกับการจัดหาแหล่งน้ำสำรองใหม่อย่างเดียว ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ล้วนต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

 

รักษาแหล่งน้ำ หมดปัญหา'น้ำประปา'ขาดแคลน

ลองคิดดูให้ดี หากเราไม่ช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าตั้งแต่วันนี้ แล้วเราจะเริ่มต้นเมื่อไร? ทุกวันนี้หลายบ้านยังคงมีน้ำสูญเสียจากการรั่วไหลจำนวนมาก โดยผู้อยู่อาศัยไม่รู้ตัว ท่านรู้หรือไม่ จากการสำรวจการใช้น้ำในอาคารบ้านเรือน พบว่าน้ำที่รั่วไหล โดยมิได้ใช้ประโยชน์โดยเฉลี่ยสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น ก๊อกน้ำมีน้ำหยดตลอดเวลา จะสูญเสียน้ำถึง 1,500 ลิตร (1.5 ลูกบาศก์เมตร) ต่อเดือน ก๊อกน้ำที่ปิดไม่สนิท น้ำรั่วไหลเป็นสาย จะสูญเสียน้ำไม่น้อย กว่า 10,000 ลิตร (10 ลูกบาศก์เมตร) ต่อเดือน ชักโครกที่ลูกลอยปิดไม่สนิท มีน้ำไหลลงโถส้วมตลอดเวลา จะสูญเสียน้ำกว่า 30,000 ลิตร (30 ลูกบาศก์เมตร) ต่อเดือน การรั่วไหลที่อาจจะดูเล็กน้อย แต่ไหลต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นปริมาณน้ำต่อเดือนอาจจะสูงกว่า ปริมาณน้ำใช้ปกติ ซึ่งหากช่วยกันสังเกต ดูแล และแก้ไข ก็จะช่วยประหยัด ทั้งเงินค่าน้ำ และทรัพยากรน้ำได้

จิตสำนึกของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าหมายถึง การใช้น้ำอย่างรู้ตัวและระมัดระวัง สิ่งสำคัญของการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า คือ ต้องไม่ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละคนผิดแปลกไป แต่ควรจะประหยัดจากส่วนเกินของการใช้ชีวิตประจำวัน หรือ พฤติกรรมและความเคยชินที่ไม่พึงประสงค์ หากวันนี้เราอยู่กันอย่างสุขสบาย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ทรัพยากรอันมีค่าคงจะทยอยหมดไป แล้วรุ่นลูกหลานของท่านจะมีทรัพยากรใช้นานเท่าใด ในอนาคตจะต้องเผชิญกับภาวะ “สงครามแย่งน้ำ” หรือไม่

การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่านั้นทำได้ไม่ยากเลย ลองนึกถึงสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กมัธยม ตอนที่ท่านไปเข้าค่ายลูกเสือ ฝึกวิชาการทหาร (รด.) แล้วท่านมีน้ำจำนวนจำกัดต้องใช้น้ำร่วมกัน หรือบางครั้งใช้ขันรองน้ำเพื่อแปรงฟัน สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ที่ท่านเคยฝึกในวัยเด็ก ท่านเคยลองนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันบ้างหรือไม่ วิธีการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าหลายคนรู้ดีอยู่แล้ว และปฏิบัติได้ไม่ยากเกินไปนัก ท่านลองทบทวนสิ่งเหล่านี้แล้วเริ่มต้นการใช้อย่างประหยัดด้วยจิตสำนึกของท่านเอง อย่าให้ความประหยัดต้องเกิดจากความจำเป็นบีบบังคับเสมอเลย ลองฝึกสติตนเองให้พึ่งพิงวัตถุนิยมน้อยลง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้ชีวิตท่านเป็นอิสระและโปร่งเบามากขึ้น ลองหันมาใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าด้วยตัวของท่านเองตั้งแต่วันนี้เถอะค่ะ

http://www.komchadluek.net/news/pr/288152

บทความอื่น ๆ